ข้อมูลทั่วไป » ข้อมูลชุมชนตำบลทุ่งศรี

ข้อมูลชุมชนตำบลทุ่งศรี

26 มีนาคม 2022
389   0

อาณาเขตที่ตั้งของกศน.ตำบลทุ่งศรี

สภาพทั่วไปของตำบล

ตำบลทุ่งศรีอยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ  30  ก.ม.ทางทิศเหนือ  การเดินทางมีถนนสายยัตรกิจ-โกศลสาย  101 แพร่ – น่าน  เลยจากสี่แยกไฟแดงไปจังหวัดน่านประมาณ 3 ก.ม.  อยู่ห่างจากตัวอำเภอร้องกวาง  ประมาณ  3  ก.ม.  มีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะติดกับภูเขา  มีแม่น้ำแม่คำมีไหลผ่านตรงกลางตั้งแต่บ้านวังหม้อหมู่ที่ 1 ไปสิ้นสุดเขตติดต่อระหว่างบ้านต้นเดื่อหมู่ที่  4 และบ้านปากทางทุ่งศรีหมู่ที่  5  ใต้ฝายห้วยบาตรติดต่อกับตำบลร้องเข็มหมู่ที่   2  

เดิมตำบลทุ่งศรี  มี  3 หมู่บ้านคือ  บ้านวังหม้อหมู่ที่ 1  บ้านผารางหมู่ที่  2  บ้านทุ่งศรีหมู่ที่  3 เดิมมีชื่อเรียกว่า ตำบลทุ่งเพ้อ ได้ถูกหยุบรวมกับตำบลร้องกวางเมื่อประมาณปี  2484 ต่อมาผู้นำหมู่บ้านได้เรียกร้องให้แยกออกจากตำบลร้องกวางเป็น  ตำบลทุ่งเพ้อ ดังเดิม  และได้รับอนุญาตเมื่อ  พ.ศ.  2491 ต่อมาท่านพระครูรัตนปัญญา(วัดรัตนปัญญา) เจ้าคณะอำเภอในสมัยนั้น  เห็นว่าชื่อดังกล่าวไม่เป็นมงคล  จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลทุ่งศรี  ณ  วัดทุ่งศรี  เพื่อให้เป็นศิริมงคลแก่บ้านเมือง  และตามภูมิประเทศติดกับทุ่งนา และมีต้นศรีมหาโพธิ์อยู่ภายในเขตวัดทุ่งศรีด้วย และแยกออกเป็น  5 หมู่บ้านเมื่อ  พ.ศ.  2517  คือบ้านวังหม้อ หมู่ที่ 1 ,บ้านผาราง หมู่ที่ 2 ,บ้านทุ่งศรี หมู่ที่ 3, บ้านต้นเดื่อ – ต้นผึ้ง หมู่ที่ 4  และบ้านปากทางทุ่งศรี  หมู่ที่  5

ตำบลทุ่งศรี มี 5 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 1,3,4,5 อยู่ในเขตเทศบาลตำบลร้องกวาง) มีเนื้อที่ 5,900 ไร่
  จำนวนประชากร 3,459 คน 983 ครัวเรือน

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มติดกับเชิงเขาป่าแพะโปร่งส่วนใหญ่จะเป็นป่าเบญจพรรณที่สามารถหาของป่าเช่นเห็ดผักหวานหน่อไม้ไก่ป่ากระต่ายฯลฯนอกจากนั้นยังมีป่าสำหรับการใช้สอยเช่นไม้จักตอกไม้ทำเสาบ้านทำฟืนไม้กระทู้ปลูกผักฯลฯ

                   ทิศเหนือ          ติดต่อกับตำบลร้องกวาง
                   ทิศใต้             ติดต่อกับตำบลร้องเข็ม

                   ทิศตะวันออก    ติดต่อกับบ้านปากทาง ต.ร้องเข็ม

                   ทิศตะวันตก      ติดต่อกับบ้านปากยาง ต.แม่ยางฮ่อ

เส้นทางคมนาคมและการขนส่ง

ถนน ถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน และอำเภอร้องกวางคือ ถนนสายร้องกวาง-แพร่ ห่างจาก อำเภอร้องกวางไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 0.5 กม. และถนนแยกเข้ามาในชุมชนระยะทาง 1.5 กม.

ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 30 สาย ถนนลาดยาง 40 สาย  ถนนลูกรัง 25 สายถนนดิน 20 สาย

สภาพของชุมชน

ตำบลทุ่งศรีแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น  5 หมู่บ้าน ได้แก่

หมู่ที่ 1 บ้านวังหม้อ

หมูjที่ 2 บ้านผาราง

หมู่ที่ 3  บ้านทุ่งศรี

หมู่ที่ 4 บ้านต้นเดื่อ-ต้นผึ้ง

หมู่ที่ 5 บ้านปากทางทุ่งศรี

ลักษณะการปกครอง

เดิมเป็นการปกครองแบบสภาตำบลปัจจุบันแบ่งการปกครองเป็น  2  ระบบ  คือ  สภาตำบล   เมื่อประมาณ  พ.ศ.   2517 และเทศบาลตำบล  เมื่อ  พ.ศ.2541  ปัจจุบันตำบลทุ่งศรีขึ้นกับเขตการปกครองเทศบาลตำบลร้องกวาง  โดยมีผู้นำชุมชนเป็นผู้ประสานงานความร่วมมือกับเทศบาลและอำเภอร้องกวาง  โดยมีกลุ่ม / องค์กรในชุมชนดังนี้  คือ  กลุ่มแม่บ้าน   อสม.  ออมทรัพย์  ผู้สูงอายุ  เยาวชน 

ข้อมลด้านสังคม

ทุนทางสังคม วัฒนธรรม

การรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วม   ชาวบ้านมีความรักในหมู่บ้านของตน มีการจัดทำแผนชุมชน รวมทั้งมีการรวมตัวกัน เป็นอย่างดีในทุกกิจกรรม

การ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนให้ชาวบ้านเข้าใจและร่วมกันดำเนินกิจกรรม การพัฒนาด้านต่างๆในชุมชนโดยเน้นการอยู่ดีมีสุขเป็นหลักในการดำเนินชีวิตใน ชุมชน   วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญและโดดเด่น มีงานประเพณีพื้นบ้านเหมือนชุมชนล้านนา โดยทั่วไป

 วิถีชีวิต  ความเชื่อ  ประเพณี  พิธีกรรมชุมชน

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อ  2  ด้าน  คือ 

  1. 1. เรื่องไสยศาสตร์ เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์กล่าวคือ ยังมีการเลี้ยงผีเรือนและนับสายเครือญาติทางผีเรือน  (ผีปู่ตา)  การเลี้ยงผีเจ้าที่  ผีตายโหง  ผีเหมืองฝาย   การบูชาเท้าทั้ง  4  การส่งเคราะห์  เอาขวัญ  การส่งตัวพึ่งตัวตัวจน  การส่งปู่แถนย่าแถน  การส่งหาบส่งกอน   ทำบุญหาญาติผู้ล่วงลับ      
  2. 2. ความเชื่อด้านพุทธศาสนาพร้อมกัน เช่น การเข้าวัดรักษาอุโบสถในวันพระตลอดปี  ทำบุญพลีกรรมในวันเข้าพรรษา  ออกพรรษา  วันสงกรานต์  วันเพ็ญเดือน  4 (เหนือ ตานข้าวใหม่)  วันเพ็ญเดือน  4,6 เหนืองานขึ้นธาตุ    งานตั้งธรรมมหาชาติ  การุชาพระอุปคุตเพื่อสร้างความสงบร่มเย็นและการปราบพระยามารทั้งหลาย   

          การดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนตำบลทุ่งศรี ส่วนใหญ่มีการทำอาหารแบบพื้นบ้านที่หาได้จากรั้วบ้านและไร่  นา  สวน  ที่ได้ทำการปลูกไว้กินเอง  เช่น  มะเขือ  ผักกาด  ผักแซ่ว  ผักสลิด  ถั่วแปบ  ถั่วพู  ถั่วฝักยาว  ผักแคบ  ผักหม่าน้ำแก้ว  ฯลฯ  การสวมใส่เสื้อผ้าเมื่อทำงานชาวบ้านจะแต่งตัวแบบพื้น ๆ และมีการร่วมทำงานแบบเอามื้อกันทำยาสูบ  และทำไร่  นา  สวน  งานประเพณีขึ้นบ้านใหม่    แต่งงาน  บวชพระ  มีการบอกกล่าวผีเรือน  เชิญกันในหมู่เพื่อนบ้านชาวบ้านถือว่าเป็นงานของหมู่บ้านที่ต้องมาช่วยกันอย่างเต็มที่ 

ปัจจุบันสู่แนวโน้มอนาคต  คือ   การที่มีชาวบ้านบางส่วนออกไปทำงานต่างถิ่นและการรับเอาวัฒนธรรมที่ฟุ่มเฟือยจากต่างถิ่นเข้ามาในชุมชนและเด็ก  หนุ่มสาว  เยาวชน   เริ่มมีรสนิยมตามกระแสสังคม  นอกจากนี้ยังการขาดความมั่นใจ ภาคภูมิใจ ในคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นตนเองที่มีอยู่  การเลียนแบบโฆษณาทั้งการแต่งกาย  การกิน  การเที่ยว  การนิยมทำตามดารา  นักร้อง  นอกจากนั้นยังมีการย้ายถิ่นอย่างต่อเนื่องเพื่อทำงานต่างถิ่น  เช่น  กรุงเทพฯ  เชียงใหม่  ลำพูน  ทำให้เกิดการขาดแรงงานในท้องถิ่น และปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของเด็กกับผู้สูงอายุ  เพราะพ่อแม่ทิ้งเด็กไว้ให้ปู่  ย่า  ตา ยาย  หรือลุง    ป้า  น้า  อา    ดูแลทำให้เกิดการสื่อสารต่างวัยและยุคสมัย  มีความน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นปัญหาของชุมชนหมู่บ้านในระยะยาว

ความเชื่อ  หมู่บ้าน 

ชาวบ้านที่เป็นผู้เฒ่า  ผู้แก่  และที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการเกษตรมีความเชื่อเรื่องการทำบุญให้กับผู้มีพระคุณเช่น  พ่อ  แม่  ครู  อาจารย์  หรือผู้เคารพนับถือ  เพื่อมิตรสหาย  มีลักษณะความเชื่อที่เป็นแบบพราหมณ์  ผี  พุทธร่วมกัน  มีความเชื่อเรื่องผีปู่ย่า  ผีเรือน  เจ้าที่เจ้าทาง

ประเพณีในชุมชน

ตานข้าวใหม่เดือน   ๔  เป็ง  ตานไม้หลัวพระเจ้าเดือน   ๓  เหนือ     เลี้ยงผีเจ้าบ้าน (เสื้อบ้าน เจ้าอาฮัก)  วันแรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๗  เหนือ   ป๋าเวณีรดน้ำดำหัวพ่อแม่  พ่อแก่แม่เฒ่าวันพญาวันปี๋ใหม่เมือง     เลี้ยงผีเรือนในเดือน  ๕  เหนือ ขึ้น  ๙ หรือแรม  ๙  และเดือน  ๖  ขึ้นหรือแรม  ๙  ค่ำ  การเลี้ยงผีฝายน้ำแม่คำมี  ในช่วงเดือน  ๙    เหนือ  การเลี้ยงผีเจ้าไร่เจ้าสวนเดือน  ๘  เหนือ  การแฮกนาก่อนปลูกข้าว  การบนผีแม่ธรณีก่อนการหว่านกล้าลงนา  ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีประเพณีตานขันข้าวแก่ผู้วายชนในช่วงปี๋ใหม่เมือง  (เดือน  ๗  เหนือ  ๕  ใต้)  ประเพณีเข้าพรรษา – ออกพรรษา   ประเพณีเดือนเกี๋ยงเหนือ  เดือนยี่เป็ง   เดือน  ๔  เป็ง  “ตานข้าวใหม่หื้อพ่อแม่ที่ได้บุกเบิกไร่นาไว้ให้ลูกหลานได้มีที่ทำกิน

 พิธีกรรม  หมู่บ้าน

เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือคนครอบครัวมีการเจ็บป่วย  งานขึ้นบ้านใหม่  แต่งงาน  งานบวชชาวบ้านจะมีพิธีกรรมขึ้นท้าวทั้ง  ๔  ส่งเคราะห์  เอาขวัญ  สืบชาตา    ปู่จาเทียน  ส่งหาบ  ส่งคอน   ส่งปู่แถนย่าแถน  “เอาขวัญควาย  ปัจจุบันเป็นเพียงการแสดงให้ได้ดูรูปแบบเท่านั้น”  การเลี้ยงผีตายโหง  การเลี้ยงผีเจ้าปู่    

 การละเล่นพื้นบ้าน

ตีกลองมองเซิง  ตีกลองปู่จา 

การเล่นสะบ้า  กลุ่มแม่บ้านทุ่งศรี   (แม่ชวนพิศ    ปะทะดวง)

การเล่นป๊อกหม่าข่วง    นายมาย    ทะกา      การเล่นก้องแก้ง  หมากเก็บ

ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพในชุมชน ร้อยละ 60 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่เหลือประกอบอาชีพต่างๆ ได้แก่

ทำงานเอกชน/บริษัท/โรงงาน/รับจ้างทั่วไป รับราชการ และค้าขาย

อาชีพเกษตร เป็นอาชีพหลัก Ø การทำนา โดยปลูกข้าวเจ้านาปีเพื่อการ บริโภคในครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หอม มะลิ105 ส่วนข้าวเหนียวนิยมปลูกพันธุ์ กข. 10 ในหมู่บ้านยังคงมีประเพณีการลงแขก หรือเอามื้อ แต่หากกรณีที่ต้องจ้างแรงงานคน ในหมู่บ้านจะต้องจ่ายค่าแรงงานชายวันละ 200 บาท หญิง 150 บาท

การทำไร่ ท้าสวน ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และยาสูบ

รายได้ (เกณฑ์เฉลี่ยของ จปฐ. คือ 30,000 บาท/คน/ปี) โดยเฉลี่ยชุมชนมีรายได้เฉลี่ย 55,804 บาท/คน/ปี จึงทำให้ไม่ตกเกณฑ์เฉลี่ย จปฐ

ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร 

  1. 1. พืชที่การปลูกข้าวนาดำเพื่อการบริโภค
  2. 2. ข้าวโพดเพื่อขายทำ 2 ฤดู  คือ  ฤดูฝนจะทำในไร่  สวนและชายน้ำ  ฤดูแล้งทำในทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว
  3. 3. ไร่ยาสูบเพื่อส่งให้กับโรงงานยาสูบร้องกวางโดยระบบโควต้า นิยมปลูกช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – เมษายน   โดยการปลูกบนพื้นที่ไร่ สวน  หลังเก็บข้าวโพดและในนาหลังเกียวเก็บข้าวเสร็จสิ้นลง
  4. 4. มีการทำพืชผักสวนครัวบ้างเพื่อการบริโภคและขายตลอดปี ประมาณ 5–10 %ของการเกษตร
  5. 5. เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว   หมู  ไก่  เป็ด  ปลา   ฯลฯ  ประมาณ   10  %